วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

ปรับแนวคิดสำหรับชีวิตและการงาน Work-Life Balance


ปรับแนวคิดสำหรับชีวิตและการงาน
Work-Life Balance

ในปัจจุบันปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไปมีผลให้คนไทยส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ปัจจัยจากการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น

ปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากกว่าเดิม และการที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนา จนทำให้เราสามารถทำงานได้ในทุกที่ทุกเวลา ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การจัดสรรเวลาที่ชัดเจนระหว่าง ‘การทำงาน’ และเวลาสำหรับ ‘ด้านอื่น ๆของชีวิต’ เช่น ครอบครัว สังคม หรือแม้แต่การให้เวลาสำหรับตนเองเป็นไปได้ยากขึ้นทุกที

ผลสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าคนไทยใช้เวลาทำงานยาวนานเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงประเทศเกาหลีใต้และเปรูเท่านั้น

เรื่องการรักษา “สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ” หรือที่เรียกกันว่า Work-Life Balance จึงกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก แต่การจัดสรรเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละวันให้ลงตัวเพื่อตอบโจทย์หลายด้านของชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในธุรกิจ SME ที่เจ้าของกิจการต้องรับผิดชอบงานมากมายและใช้เวลาไปกับการทำงานเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 10-12 ชั่วโมง การรักษาสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานจึงถูกมองว่าเป็นเรื่อง “พูดง่าย แต่ทำยาก” เสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นและเสนอเคล็ดลับแนวทางในการรักษาความสมดุลให้กับชีวิต โดยมีหลักการและสาระสำคัญที่ตรงกันในเบื้องต้นดังนี้...

1. ให้ความสำคัญกับการบริหารเวลาอย่างยิ่งยวด

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษา Work Life Balance คือ การบริหาร “เวลา” อย่างมีประสิทธิภาพ เวลาเป็นหนึ่งในทรัพยากรมีค่าที่สุด ทุกคนมีเวลาจำกัดเหมือนกัน ซึ่งนักบริหารที่ประสบความสำเร็จต่างก็เข้มงวดต่อการใช้เวลาของตัวเองที่สุด

หากเราปล่อยปละละเลยไม่เข้มงวดกับการใช้เวลา ทั้งในการทำงานหรือภารกิจต่าง ๆ สิ่งที่เราตั้งใจก็จะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย สุดท้ายแล้วมักจบลงด้วยการทำงานล่วงเวลาหรือต้องแบกงานกลับไปทำที่บ้าน ทำให้เวลาสำหรับการพักผ่อนหรืออยู่กับครอบครัวที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก

การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและอาศัยประสบการณ์ สิ่งที่เราควรเริ่มทำเป็นอันดับแรกคือเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการบริหารเวลาของเราเองก่อน ให้ความสำคัญและสนใจกับการบริหารเวลามากขึ้นเท่า ๆ กับที่เราต้องเอาใจใส่ในงานที่เรารับผิดชอบ แล้วเราจะพบว่าในวันหนึ่ง ๆ เรามีเวลามากพอจะจัดสรรให้กับเรื่องอื่นนอกเหนือจากการทำงาน

2. รักษาสุขภาพคืองานอย่างหนึ่ง

อีกหนึ่งต้นทุนที่สำคัญเทียบเท่ากับเวลาคือตัวของเราเอง ช่วงที่เรามีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยเรามักลืมให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ ลืมนึกถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราล้มป่วยลง

ดังนั้น การเพิ่มรายการรักษาสุขภาพให้ทั้งกายและใจ เช่น “ตรวจสุขภาพประจำปี” “นั่งสมาธิ” หรือ “โยคะ” ลงในตารางเวลาของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเรามีสุขภาพกายที่ดี มีสมองที่แจ่มใส มีสติและสมาธิ ต้นทุนของเราก็พร้อม เรื่องต่าง ๆ ก็เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3. เพิ่มความยืดหยุ่นให้การทำงานและสมดุลของชีวิต

ทั้งเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตควรมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ช่วงไหนที่งานเร่งด่วนเราก็เดินหน้าทุ่มเทให้กับงาน แต่ต้องไม่ลืมผ่อนคันเร่งเมื่อถึงคราวที่ต้องให้เวลากับเรื่องอื่น ๆ การตั้งเป้าหมายให้กับการทำงานเป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องไม่ลืมตั้งเป้าหมายให้กับการพักผ่อนและสิ่งอื่นที่สำคัญต่อชีวิตของเราด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตที่เราพูดถึงนี้มีระดับแตกต่างกันไปตามสถานะและบทบาทของแต่ละคน ซึ่งชีวิตของเรามีมากกว่าหนึ่งด้านเสมอ เราจึงต้องทำความเข้าใจและพยายามควบคุมให้เกิดความสมดุลที่พอดีให้ได้ เพื่อที่ความสมดุลนี้จะนำมาซึ่งความสุข ความสำเร็จที่ยั่งยืนและสมบูรณ์ให้กับเราต่อไป.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ขอบคุณบทความจาก : สสส.
ขอบคุณภาพประกอบจาก google