วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

การบริหาร (ความรู้สึก) คน Employee Feeling Management


การบริหาร (ความรู้สึก) คน

ขึ้นชื่อว่า “คน” ย่อมมี รัก โลภ โกรธ และหลง

แต่จะทำอย่างไรให้ความรู้สึกเหล่านี้ เป็นไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์

- “รัก” ที่จะทำในสิ่งดีงาม และถอยห่างจากการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

- “โลภ” ในสิ่งที่ควรได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรง และความตั้งใจจากวิธีการปกติ มากกว่าที่จะมัวเมา คาดหวัง หรืออยากได้ใคร่มีในสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปไม่ได้ หรือได้มันมาด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม

- “โกรธ” ในความสะเพร่า ประมาท และความไม่เอาใจใส่ของตัวเอง จนทำให้สิ่งต่างๆที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราต้องเสียหาย ไม่เกิดผลตามที่ควรจะเป็น หรือส่งผลไปถึงคนอื่นๆ รอบข้าง เพื่อจะได้ไม่ทำเช่นนั้นซ้ำอีก

- “หลง” ในสิ่งที่เป็นความชื่นชอบส่วนตัว และไม่ผิดศีลธรรม แต่ความหลงใหลใคร่รู้ ศึกษาอย่างถ่องแท้ หรือให้เวลากับสิ่งนั้น อาจนำไปสู่ผลที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ให้สิ่งที่เราหลงเป็นแรงบันดาลใจ หรือเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะทำให้เราก้าวหน้าไปในอนาคต

ความรู้สึกที่ดีและเป็นไปในด้านบวกนี้ ถ้าใครก็ตามสามารถสะกดจิต ปลูกสำนึก และสร้างสรรค์มันได้ด้วยตัวเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่บ่อยครั้งเราจะพบว่าปัญหาอุปสรรคสำคัญ ก็คือตัวเรานั่นเอง เรามักจะบ่ายเบี่ยง ปฎิเสธ หรือยอมแพ้ต่อความตั้งใจ และโทษสิ่งรอบข้างว่าเป็นต้นเหตุทำให้เราไปไม่ถึงฝั่งฝัน ซึ่งมีส่วนจริงอยู่บ้าง

คำถามคือ “เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างความรู้สึกที่เป็นบวกให้กับตัวเอง และไม่สร้างบรรยากาศที่เป็นลบให้กับผู้อื่น” เพราะถ้าทุกคนทำได้ สังคมที่แต่ละคนอยู่นั้นก็จะเต็มไปด้วย สิ่งสวยงาม ทุกคนก็จะร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี มีคุณค่าให้แก่กันและกัน

สำหรับ คนทำงาน บรรยากาศภายในของบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานที่สังกัดนั้น คือสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล คงจะไปคาดหวังว่าจะมีใคร หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาดูแลรับผิดชอบแต่เพียงลำพังคงไม่ได้ แม้ว่าบ่อยครั้งทุกคนจะชี้นิ้วไปที่ผู้บริหารขององค์กรว่าไม่ได้จัดการดูแลให้ดีก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแต่ละคนต้องทำหน้าที่ในส่วนของตนเองให้เต็มที่มากกว่า

นอกจากนั้นบรรยากาศยังไม่ได้ตีความเพียงแค่สิ่งอำนวยความสะดวกที่จับต้องได้เท่านั้น หากยังหมายถึงความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกันของคนในองค์กรอีกด้วย เพราะความรู้สึกที่ไม่ดีมักกลายเป็นมลพิษให้กับองค์กร ทั้งแบบสะสม (ค่อยเป็นค่อยไป) จนอาจส่งผลรุนแรงได้ในที่สุด

แน่นอนสำหรับพนักงานใหม่ การเข้ามาทำงานในองค์กรแห่งหนึ่งย่อมมีความคาดหวังและความต้องการที่แตกต่างกัน หากแต่เมื่อเหตุผล เงื่อนไข และคุณสมบัติ เป็นที่ยอมรับกันได้ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง จึงนำไปสู่ข้อตกลงการจ้างงานในที่สุด

การได้รับคัดเลือกเข้าทำงานคงจะเป็นแค่ความรู้สึกแรก แต่คงไม่เพียงพอที่จะทำให้พนักงานมีความรู้สึกพึงพอใจในการอยู่ร่วมกับองค์กรในระยะยาวได้ เพราะเมื่อคนหลายคนมาอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์ก็เกิดขึ้น ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ติดตัวมาของแต่ละคน เหมือนเป็นทุนตั้งต้น

สิ่งที่องค์กรต้องทำต่อคือ การสะสมทุนให้พอกพูนขึ้นในตัวพนักงานแต่ละคน ผ่านการฝึกอบรมและพัฒนาด้วยวิธีการต่างๆ โดยหวังว่าจะเกิดผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งที่เป็นตัวเงิน (รายได้) และที่ไม่อยู่ในรูปของตัวเงิน (ความผูกพัน)

ความรับผิดชอบหนึ่งของผู้บังคับบัญชาในระดับชั้นต่างๆ ตั้งแต่หัวหน้างานจนถึงผู้บริหารระดับสูง นอกจากการบริหารงานให้เสร็จและสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว

ยังต้องบริหารคนที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ตั้งแต่ความรู้ ความคิด และจิตใจ ให้อยู่ร่วมกันและสร้างสรรค์พลังร่วม (Synergy) ให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยอาจวัดจากความสามารถในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่เรียกว่า ความพึงพอใจของพนักงาน แบ่งได้เป็นสองส่วนคือ
- ความปลอดภัย
- และขวัญกำลังใจ

ก่อนจะพัฒนาไปในขั้นสูงจนทำให้เกิดความรักและความผูกพันต่อองค์กร อาทิ ความภูมิใจ ความเชื่อมั่น ความมั่นคง ความก้าวหน้า และความท้าทาย เป็นต้น ฉะนั้นแผนงานและนโยบายใดๆ ที่มีผลกระทบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแก่พนักงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนึกถึงความรู้สึกของพนักงานทุกครั้ง

การบริหารคน (ทรัพยากรบุคคลขององค์กร) ให้ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องบริหารความรู้สึกของคนให้ได้ ซึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ (Soft Side Management) เมื่อไรก็ตามที่สามารถบริหารคนในองค์กรโดยมีกฎ ระเบียบ ข้อห้าม น้อยเท่าใด ยิ่งสะท้อนความสำเร็จได้ดีเท่านั้น

จากการศึกษาองค์กรที่ละเลย เพิกเฉย หรือมองข้าม “ความรู้สึก” ของคน พบว่ามักจะแก้ปัญหาการบริหารคน ด้วยการออกกฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ออกมามากมาย จนบางคราวก็ขัดแย้งกันเอง เป็นการบริหารในแบบอำนาจนิยม และใช้ตำแหน่งเข้าควบคุมสั่งการ

ในขณะที่องค์กรแบบเปิดกว้าง จะใช้วิธีการการสื่อสารแบบเปิดเผย เพื่อทำความเข้าใจ หาทางออกที่ลงตัว และสร้างความรู้สึกร่วม ซึ่งจะมีพลังและแก้ปัญหาที่สาเหตุ มากกว่าการแก้ที่อาการหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นปลายเหตุ

ความรู้สึกที่พนักงานมีต่อองค์กร อาจเกิดขึ้นได้กับสิ่งที่มีตัวตนจับต้องได้ จนถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตน อาทิ สภาพแวดล้อมการทำงาน ค่าจ้างค่าตอบแทน บรรยากาศการทำงานร่วมกัน การพัฒนาพนักงาน ลักษณะงาน การประเมินผลการปฎิบัติงาน ความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานด้วยกัน ช่องทางและวิธีการสื่อสาร ตลอดจนความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยต่อกัน ซึ่งความรู้สึกนี้ต้องใช้การสังเกต การฟัง และการสัมผัส มากกว่าแค่การพูด

เมื่อคนได้รับการดูแลเอาใจใส่ และบริหารแบบเป็นคน (ไม่ใช่เครื่องจักร) คนก็จะกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ต่างจากเครื่องจักรที่แม้จะเป็นทรัพย์สินเหมือนกัน แต่ก็เสื่อมค่าไปในที่สุด และก็ต้องลงทุนไปจัดหามาใหม่เสมอ มาเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการบริหารความรู้สึกตัวเราก่อนเป็นไง

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก สสส.
ขอบคุณภาพประกอบจาก google