วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สติสัมปชัญญะ Mindfulness and consciousness

ขอบคุณภาพประกอบจาก dhammachak.net

"สติสัมปชัญญะ"
"Mindfulness and consciousness"

คำว่า “สติ” หมายถึง ความระลึกได้ นึกได้อาการที่จิตฉุกคิดขึ้นได้ เช่น ฉุกคิดขึ้นได้ว่า ถึงเวลาสวดมนต์แล้วเป็นต้น ดังนั้น “สติ” จึงเป็นอาการจิตนึกขึ้นได้ ซึ่งตรงข้ามกับอาการเรียกว่า “เผลอ”หรือ“ลืม”

ในพระพุทธศาสนา ถือว่า “สติ” เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก กล่าวคือ “สติ” ช่วยไม่ให้งานการเสียหายเพราะลืมทั้งนี้เพราะการงานบางอย่าง ถ้าลืมเสียย่อมจะเกิดความเสียหายร้ายแรงได้ เช่น หมอลืมให้ยาคนไข้คนไข้ก็อาจเสียชีวิตพระลืมลงสวดปาฏิโมกข์ก็ต้องอาบัติ เป็นต้น ดังนั้นสติจึงเป็นธรรมมีอุปการะมาก เพราะ

ช่วยไม่ให้เราเผลอ ไม่ให้หลงลืมในสิ่งที่ควรทำหรือต้องทำ ยิ่งกว่านั้นสติยังเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการเจริญภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานต่อไปอีกด้วย

คำว่า “สัมปชัญญะ” หมายถึง ความรู้สึกตัว หรืออาการรู้ตัวในขณะทำอยู่ เช่น รู้ว่าเรากำลังพูดอะไร กำลังคิดอะไรหรือ กำลังทำอะไร

พระพุทธศาสนาถึงว่า “สัมปชัญญะ” เป็นธรรมที่มีอุปการะมากอีกข้อหนึ่ง โดยทั่วไปจะใช้คู่กับ “สติ”

เรียกว่า“สติสัมปชัญญะ”โดยถือว่า “สติ” เกิดก่อนทำ พูด และคิด ส่วน“สัมปชัญญะ” เกิดในขณะกำลังทำ พูด และ คิด แต่ธรรมทั้งสองนี้จะเกิดควบคู่กันเสมอ

ใน คัมภีร์อรรถกถา ปาฏิกวรรค ได้แบ่งสัมปชัญญะออกเป็น ๔ ประการ คือ

๑. สาตถกสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่า สิ่งที่ตนกำลังทำนั้นมีประโยชน์หรือไม่
๒. สัปปายสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่า สิ่งที่ตนกำลังทำนั้นเป็นที่สบายหรือเหมาะสมกับตนหรือไม่
๓. โคจรสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่า สิ่งที่ตนกำลังทำนั้นเป็นกิจที่ควรทำหรือไม่
๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวว่า สิ่งที่ตนกำลังทำนั้นเป็นความหลงเข้าใจผิด หรืองมงายหรือไม่
ที่มา : ข้อปฏิบัติเบื้องต้นของพระภิกษุ : ๕. ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
http://goo.gl/71O7wg