วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

การบริหารความขัดแย้ง ด้วยคำว่า “ทัศนคติ” Conflict Management with the word " attitude "


การบริหารความขัดแย้ง ด้วยคำว่า “ทัศนคติ”
Conflict Management with the word " attitude "

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ในทุกวันของชีวิต โดยเฉพาะเมื่อคนเราต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม หรือต้องทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม หากสมาชิกกลุ่ม มีความแตกต่างกันมากในหลายๆด้าน ตามพื้นฐานแล้วความขัดแย้งก็จะเกิดมากขึ้นตามลำดับ

ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการยากมากที่คนเราจะทำงานร่วมกัน โดยปราศจากความขัดแย้งใดๆทั้งสิ้น จนมีคำกล่าว ที่ว่า “ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในชีวิต แต่ปัญหาไม่จำเป็นต้องมี” เพราะความขัดแย้งที่คงอยู่ในระดับหนึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหา

นักบริหารที่จะสามารถบริหารงานแบบมืออาชีพได้นั้น ต้องให้ความสนใจในเรื่องของการบริหารงาน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่จะบริหารความขัดแย้งด้วยเช่นกัน เพราะในการบริหารงานทุกอย่าง ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งสิ้น

การบริหารความขัดแย้งให้ได้ประสิทธิผลนั้น จำเป็นต้องลด "อัตตา" หรือความเป็นตัวตนที่สูงเกินไป เปรียบเสมือน "คนตาบอด" มองไม่เห็นความผิดของตน ความไม่ดีของตน ไม่ยอมรับผิด มิหนำซ้ำยังกล่าวโทษผู้อื่นในทางที่เสียหาย    

การที่จะทำให้คนที่มีอัตตาสูงยอมรับ ปรับเปลี่ยนทัศนคติได้นั้นมิใช่มาจากคำพูดของผู้อื่น แต่เป็นผลมาจาก ความคิดของเขาเอง ประกอบกับทัศนคติที่ต้องการเปลี่ยนความเป็นตัวตนของเขาด้วย

การบริหารความขัดแย้ง ไม่จำเป็นต้องพยายามควบคุมบังคับบุคคลอื่น ให้อยู่ในการควบคุมของเรา ในกรณีที่ขัดแย้งกับบุคคลที่มีความเป็นอัตตาสูงมากเกินไป แนะนำว่า "อย่าเปลี่ยนที่เขา ให้เปลี่ยนที่เราดีกว่า" 

คำว่า "เปลี่ยนที่เรา" คือการเปลี่ยนที่ "ทัศนคติของเรา" ให้เกิดภาพบวกมากกว่าภาพลบ เพราะเปลี่ยนที่เรานั้น เปลี่ยนง่ายกว่าเปลี่ยนที่เขา ถ้าทุกฝ่ายคิดอย่างมีทัศนคติเชิงบวก ทุกอย่างจะเกิดสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ลงตัวมากยิ่งขึ้น  ดีมากขึ้น สิ่งแวดล้อมในการอยู่อาศัย และทำงานร่วมกันดีมากขึ้น

แทนที่เราจะต้องมานั่งทุกข์ใจ พยายามที่จะต้องวางแผนควบคุมผู้อื่น พยายามเปลี่ยนเขาซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เราควรใช้เวลาเหล่านั้นมาบริหารทัศนคติของเราจะดีกว่า ถ้าทุกฝ่ายต่างบริหารทัศนคติที่ดีของตน ความขัดแย้งก็จะเกิดน้อยลง เป็นการบริหารความขัดแย้งที่บริหารได้จากจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริง นั่นคือ “ทัศนคติ และตัวตนของเรา” นั่นเอง

บทความโดย : คุณนราชัย  ปิมปา
ที่มา : iSoft Hotel
See more at : http://buff.ly/16nI3Cd
ขอบคุณภาพประกอบจาก google