วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การบริหารจิต Mental Management

ขอบคุณภาพประกอบจาก google

การบริหารจิต
Mental Management

พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการฝึกจิตเป็นสำคัญ เพราะมนุษย์มีจิตเป็นตัวนำการ กระทำทุกอย่าง จะต้องมีการพิจารณา คิดนึกตรึกตรองเสียก่อน การฝึกจิตหรือการบริหารจิต จึงเป็นการกระทำเพื่อให้จิตมีสภาพตั้งมั่น มีสติระลึกได้ มีสัมปชัญญะรู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา

การบริหารจิต หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตให้เจริญและประณีตยิ่งขึ้น มีความปลอดโปร่ง มีความหนักแน่นมั่นคง โดยเริ่มจากการฝึกฝนจิตให้เกิดสติและฝึกสมาธิให้เกิดขึ้นในจิต

ในการที่จะให้จิตมีสติได้นั้น ผู้ฝึกต้องมีวิธีการดังนี้คือ การตั้งใจให้มีสติปสัมปชัญญะอยู่เสมอ การคบกับคนผู้มีสติปัญญามั่นคง การไม่คบคนที่มีจิตใจฟุ้งซ่านปั่นป่วนและการมีใจน้อมไปในการมีสติคืออยากจะมีสติมั่นคง กล่าวคือ

1. การตั้งใจให้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ คือ ผู้ฝึกจะต้องตั้งใจกำหนดรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องใคร่ครวญทำช้าๆ อย่ารวดเร็วเกินไป เช่น ในขณะเดิน ยืน นั่ง นอน จะต้องพยายามให้ตัวสติระลึกอยู่ตลอดเวลาทุกๆ อิริยาบถ และมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่เสมอ เมื่อตั้งใจปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวก็จะทำให้ผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

2. การคบกับคนผู้มีสติปัญญามั่นคง คือ พยายามเข้าสมาคมกับคนผู้มีสติปัญญามั่นคงด้วยการทำ การพุด และการแสดงออกอื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น การเข้าไปพบปะสนทนากับพระสงฆ์ผู้ฝึกสมาธิมาดีแล้ว โดยพิจารณาจากการพูดและการกระทำ ท่านจะอยู่ในลักษณะสำรวมระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้เราผู้เข้าร่วมสมาคมด้วยเกิดการตั้งสติและมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวสำรวมระมัดระวังตัวเช่นเดียวกับท่าน

3. การไม่คบคนที่มีจิตใจฟุ้งซ่านปั่นป่วย คือ คนใดที่มีสติฟั่นเฟือน หลงๆ ลืมๆ ซึ่งมีการกระทำการพูดผิดๆ ถูกๆ อยู่ตลอดนั้น เราไม่ควรจะไปคบด้วย เพราะการสมาคมกับคนประเภทนี้บ่อยๆ เข้าบางทีจะทำให้เราติดโรคสติฟั่นเฟือนได้ เว้นได้แต่เข้าไปคบด้วยความสงสาร เพื่อจะแนะนำเขาในบางครั้งบางคราวเท่านั้น

4. การมีใจน้อมไปในการมีสติ คือ อยากเป็นคนมีสติมั่นคง โดยตัวเราเองต้องพยายามขวนขวายปลุกใจให้เห็นคุณค่าในการมีสติสัมปชัญญะแล้วปฏิบัติธรรมเพื่อนำจิตของตนให้เป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิในขั้นต้น แม้เพียงขณิกสมาธิอันเป็นสมาธิชั่วขณะที่เกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไปในการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน เท่านี้ก็จะทำให้เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดีขึ้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้แล้วพระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงวิธีการฝึกสติให้สมบูรณ์ไว้ในสติปัฏฐาน ๔ อย่าง

กล่าวคือ การดำรงสติไว้ที่ฐานมี 4 อย่าง ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม และกำหนดพิจารณาฐานทั้ง ๔ เหล่านั้น เช่น กายานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ เวทนานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์ จิตตานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตเป็นอารมณ์ และธัมมานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมเป็นอารมณ์

สมถวิปัสสนาจำแนกออกเป็น 2 วิธีคือ

1. สมถกัมมัฏฐาน คือ อุบายสงบใจหรือวิธีฝึกอบรมจิตให้เป็นสมาธิ เพื่อเป็นการระงับนิวรณ์อันเป็นสิ่งปิดกั้นจิตไว้ไม้ให้บรรลุความดี

2. วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ อุบายเรืองปัญญาหรือวิธีฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้ตามที่เป็นจริงโดยการพิจารณาให้เห็นถึงนามรูป ซึ่งจะสามารถทำลายอวิชชาลงได้สมถะและวิปัสสนาต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันกล่าวคือ เมื่อปฏิบัติสามธิจนสงบจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้อบรมปัญญาได้ เมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งก็จะกำจัดอวิชชาลงได้ ซึ่งจะส่งผลมายังจิตให้สงบ เยือกเย็นมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของสมถวิปัสสนา

ผู้เจริญสมถกัมมัฏฐาน ย่อมเกิดสมาธิ ส่วนผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานย่อมเกิดปัญญา ประโยชน์ของสมถวิปัสสนา

แยกได้ 2 ประการคือ

1. ประโยชน์ของสมาธิ ผู้ที่มีสมาธิมั่นคงย่อมมีจิตใจที่พร้อมจะกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้โดยง่าย เช่นทางด้านการศึกษาเล่าเรียน เมื่อมีสมาธิที่ตั้งมั่นการศึกษาย่อมจะได้ผลดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการทำงานการควบคุมกิเลส และที่สำคัญคือ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทั้งนี้เพราะเมื่อสุขภาพดีแข็งแรงสมบูรณ์ ก็จะส่งผลให้สุขภาพจิตมีคุณภาพดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน

2. ประโยชน์ของปัญญา จิตที่สงบดีแล้วย่อมเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

คือ การเกิดปัญญาซึ่งประโยชน์ของปัญญานั้นมีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น ก่อให้เกิดความเจริญแก่โลก โดยการสร้างวิทยาการสมัยใหม่ขึ้นมานอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง และความสำเร็จในชีวิตคือสามารถที่จะวิเคราะห์วางแผนเพื่อปฏิบัติให้สำเร็จตามเป้าหมายของชีวิต และ ประการสุดท้าย ปัญญาทำให้เกิดความสุขในชีวิต คือสามารถที่จะรู้ถึงเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดปัญหาผู้ที่มีปัญญาก็สามรถที่จะแก้ไขให้สำเร็จไปได้ด้วยดี

ที่มา : บทเรียนคอมพิวเตอร์ วิชาพระพุทธศาสนา หน่วยที่ 7 การบริหารจิตและเจริญปัญญา
http://www.br.ac.th/elearning/social/jitraporn/Buddhism%20%20M6/Unit7_1.html